ฐานเศรษฐกิจ เอกซเรย์ อุตสาหกรรมเหล็กไทย ไตรมาส 3 /66 หลังจาก "โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด (บลกท.)" ประกาศเลิกจ้างพนักงานยกบริษัท จะพาไปดูความต้องการใช้เหล็กของไทย เทียบกำลังการผลิตในประเทศ และยอดการนำเข้าเหล็ก ย้อนดูประวัติการตั้งโรงถลุงเหล็กของประเทศ
เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด (บลกท.) ได้ออกประกาศเลิกจ้างพนักงานยกบริษัท จำนวน 382 คน เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่ ของบริษัทผู้ผลิตเหล็กแท่ง(Billet) และจำหน่ายเหล็กรายใหญ่ของไทย ในจังหวัดสมุทรปราการ อายุกว่า 59 ปี
อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพื้นฐาน เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็น จํานวนมาก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ อาหารกระป๋อง(บรรจุภัณฑ์) เครื่องจักรกลและอุตสาหกรรมก่อสร้าง ฯลฯ แต่สถานการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจเหล็กไทยจำนวนหนึ่ง กลับไม่สามารถทำกำไรได้
สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กไทยในไตรมาสที่ 3 (Q3/66)ปี พ.ศ. 2566
ยอดการบริโภคเหล็กสำเร็จรูปของไทย Q3/66
รวมทั้งสิ้น 4.04 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน(YoY) โดยแบ่งแป็น
เหล็กทรงยาว มีปริมาณอยู่ที่ 1.55 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 7.8 (YoY)
เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (Bar & HR section) มีปริมาณอยู่ที่ 0.95 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 21.8 (YoY)
เหล็กทรงแบน มีปริมาณอยู่ที่ 2.49 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 1.2 (YoY)
ยอดการผลิตเหล็กสำเร็จรูปของไทย Q3/66
มีปริมาณอยู่ที่ 1.64 ล้านตัน ขยายตัว ร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งแป็น
เหล็กทรงยาว มีปริมาณอยู่ที่ 1.09 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 7.2 (YoY)
เหล็กเส้น และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (Bar & HR section) มีปริมาณอยู่ที่ 0.91 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 18.1 (YoY)
เหล็กทรงแบน มีปริมาณอยู่ที่ 0.55 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 7.7 (YoY)
ยอดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็ก Q3/66
ปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 3.53 ล้านตัน หดตัว ร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน
ของปีก่อน จำแนกได้ดังนี้
วัตถุดิบ (Raw material) อยู่ที่ 0.32 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 33.6 (YoY)
เหล็กกึ่งสำเร็จรูป (Semifinished Steel) อยู่ที่ 0.44 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 3.9 (YoY)
เหล็กสำเร็จรูป (Finished Steel) อยู่ที่ 2.77 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 0.3 (YoY)
โดยเป็นเหล็กทรงยาว 0.69 ล้านตัน (+5.1%YoY) และเหล็กทรงแบน 2.1 ล้านตัน(-2% YoY) สินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุดได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบ (Coated steel) เหล็กแผ่นรีดร้อน (HR sheet/Coil) และเหล็กแผ่นรีดเย็น (CR sheet)
ยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็ก Q3/66
ปริมาณการส่งออกรวมทั้งหมดอยู่ที่ 0.56 ล้านตัน หดตัว ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำแนกได้ดังนี้
วัตถุดิบ (Raw material) อยู่ที่ 0.19 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 83.1 (YoY)
เหล็กกึ่งสำเร็จรูป (Semi-finished Steel) อยู่ที่ 13,000 ตัน หดตัวร้อยละ 83.3 (YoY)
เหล็กสำเร็จรูป (Finished Steel) อยู่ที่ 0.36 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 9.2 (YoY)
โดยสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุดได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (Bar & HR section) รองลงมาคือท่อเหล็กมีตะเข็บ (Welded pipe) และเหล็กแผ่นรีดเย็น (CR sheet)
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลาง และขั้นปลาย โดยไม่มี อุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น(การถลุงเหล็ก) แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามส่งเสริมให้ก่อตั้งกิจการมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายส่งเสริมให้ก่อตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำจากสินแร่เหล็ก และส่งเสริมให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ก่อสร้างเตาถลุงเหล็กขนาดเล็กแบบใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิง แต่ท้ายที่สุดต้องปิดตัวลงเนื่องจากกิจการมีขนาดเล็กมาก ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูง จึงไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศได้